ศูนย์ AOC 1441 พบ 5 คดีใหญ่ สูญเงินมิจฉาชีพกว่า 8 ล้านบาท
AOC 1441 เตือนภัย “มิจฉาชีพ” ใช้สื่อโซเชียล หลอกลงทุน – ปล่อยกู้ แถมแอบอ้างเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ ลวงเหยื่อ สูญเงินกว่า 8 ล้านบาท
นางสาววงศ์อะเคื้อ บุญศล โฆษกกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) ฝ่ายการเมือง เปิดเผยว่า ในช่วงวันที่ 2 – 8 ธันวาคม 2567 ที่ผ่านมา ศูนย์ AOC 1441 (Anti Online Scam Operation Center) ได้มีรายงานเคสตัวอย่างอาชญากรรมออนไลน์ที่ประชาชนได้รับผลกระทบจากการถูกหลอกลวง จำนวน 5 เคส มูลค่าความเสียหายที่เกิดขึ้นทั้ง 5 คดี รวม 8,906,537 บาท ประกอบด้วย
คดีที่ 1 คดีหลอกลวงให้โอนเงินเพื่อทำงานหารายได้พิเศษ 800,000 บาท โดยผู้เสียหายพบโฆษณาชักชวนลงทุนหารายได้พิเศษอ้างผลตอบแทนดีผ่านช่องทาง Facebook จึงทักไปสอบถามรายละเอียดผ่านทาง Messenger Facebook มิจฉาชีพแจ้งว่าเป็นการส่งเสริมการขายสินค้าโดยได้รับค่าคอมมิชชันตอบแทน
จากนั้นเพิ่มเพื่อนทาง Line แนะนำขั้นตอนการทำงานและดึงเข้า Group Line โดยให้เริ่มลงทุนโอนเงินเข้าไปในระบบก่อน ในระยะแรกได้รับผลตอบแทนจริง ต่อมาภายหลังเริ่มให้ลงทุนมากขึ้น จึงต้องการขอยกเลิกภารกิจและถอนเงินคืน มิจฉาชีพแจ้งว่าให้ชำระค่าภาษีและค่าปรับเนื่องจากทำผิดกฎบริษัท ผู้เสียหายเชื่อว่าตนถูกมิจฉาชีพหลอก
สถิติวันที่ 2 – 8 ธ.ค.2567
คดีที่ 2 คดีหลอกลวงให้โอนเงินเพื่อรับรางวัล หรือวัตถุประสงค์อื่นๆ มูลค่าความเสียหาย 1,648,617 บาท โดยผู้เสียหายได้รับการติดต่อจากมิจฉาชีพผ่านทางโทรศัพท์ อ้างว่าเป็นเจ้าหน้าที่กรมที่ดินแจ้งว่าผู้เสียหายจะได้รับเงินภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่เคยยื่นคำร้องไว้
หลังจากนั้นมิจฉาชีพ ให้ผู้เสียหายแจ้งหมายเลขบัญชีธนาคาร โดยแจ้งให้ทำตามขั้นตอนต่างๆรวมถึงการสแกนใบหน้า ต่อมาผู้เสียหายได้รับข้อความ SMS จากธนาคารแจ้งว่ายอดเงินในบัญชีได้ถูกโอนออกไปจนหมด ผู้เสียหายเชื่อว่าตนเองถูกมิจฉาชีพหลอก
คดีที่ 3 คดีหลอกลวงให้ลงทุนผ่านระบบคอมพิวเตอร์ มูลค่าความเสียหาย 2,300,000 บาท โดยผู้เสียหายได้รับการติดต่อจากมิจฉาชีพผ่านช่องทาง Facebook ชักชวนลงทุนเทรดหุ้น ผู้เสียหายสนใจจึงเพิ่มเพื่อนทาง Line สอบถามรายละเอียด
จากนั้นโอนเงินลงทุนทำการเทรดหุ้น ในช่วงแรกได้กำไรและสามารถถอนเงินจากระบบได้ จึงโอนเงินเพิ่มและเทรดหุ้นได้จำนวนมากขึ้นแต่ไม่สามารถถอนเงินได้ มิจฉาชีพแจ้งว่าต้องโอนเงินเพิ่มขึ้นเพื่อเป็นค่าดำเนินการ ผู้เสียหายเชื่อว่าตนถูกมิจฉาชีพหลอก
วงศ์อะเคื้อ บุญศล โฆษกกระทรวงดีอีฝ่ายการเมือง
คดีที่ 4 คดีหลอกลวงให้กู้เงิน มูลค่าความเสียหาย 2,157,921 บาท โดยผู้เสียหายพบโฆษณาสินเชื่อกู้เงินง่ายผ่านช่องทาง Tiktok ผู้เสียหายสนใจจึงทักไปสอบถามรายละเอียด จากนั้นได้เพิ่มเพื่อนทาง Line มิจฉาชีพให้กรอกข้อมูลและแจ้งให้โอนเงินเพื่อเป็นค่าประกันสินเชื่อ ผู้เสียหายหลงเชื่อจึงโอนเงินไป
แต่ไม่สามารถถอนเงินกู้ออกมาได้ มิจฉาชีพอ้างว่าผู้เสียหายกรอกข้อมูลส่วนตัวผิดพลาด ระบบจึงทำการระงับรายการไว้ชั่วคราว ให้ทำการส่ง หน้าเอกสารบัญชีธนาคาร ถ่ายรูปบัตรประจำตัวประชาชนด้านหน้าและด้านหลัง และโอนเงินเพื่อให้ทางระบบเปิดให้ทำการแก้ไข ผู้เสียหายหลงเชื่อจึงทำตาม หลังจากโอนเงินเสร็จไม่สามารถติดต่อได้อีก จึงเชื่อว่าตนเองถูกมิจฉาชีพหลอก
คดีที่ 5 คดีข่มขู่ทางโทรศัพท์ให้เกิดความกลัวแล้วหลอกให้โอนเงิน (Call Center) มูลค่าความเสียหาย 1,999,999 บาท ทั้งนี้ ผู้เสียหายได้รับการติดต่อจากมิจฉาชีพผ่านทางโทรศัพท์ อ้างว่าเป็นเจ้าหน้าที่เครือข่าย โทรศัพท์ TrueMove แจ้งว่าผู้เสียหายเปิดหมายเลขโทรศัพท์ทำเรื่องผิดกฎหมาย และโอนสายไปให้สนทนากับเจ้าหน้าที่ตำรวจภูธรจังหวัดพิจิตร เจ้าหน้าที่ตำรวจแจ้งว่าหมายเลขโทรศัพท์มือถือและบัญชีธนาคารของผู้เสียหายมีส่วนเกี่ยวข้องกับเว็บไซต์พนันออนไลน์
จากนั้นได้เพิ่มเพื่อนทาง Line มีการสนทนาผ่าน VDO Call และขอตรวจสอบเส้นทางการเงินในบัญชี หากไม่ให้ความร่วมมือจะมีความผิดตามกฎหมาย ผู้เสียหายหลงเชื่อจึงให้ความร่วมมือและโอนเงินไป ภายหลังการโอนเงินเสร็จไม่สามารถติดต่อได้อีก ผู้เสียหายเชื่อว่าตนเองถูกมิจฉาชีพหลอก